Last updated: 28 ม.ค. 2564 | 2281 จำนวนผู้เข้าชม |
การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิต หากมองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือครอบครัว แน่นอนว่าราคาที่ต้องจ่ายคือความเศร้าโศกเสียใจและรายจ่ายด้านสุขภาพ ทว่าในภาพใหญ่ระดับประเทศ การเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเสียชีวิตของประชาชนส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม หนทางจัดการแก้ไขนั้นมีอยู่ แต่จะแก้ให้ตรงจุดก็ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
ในแวดวงคนทำงานด้านสุขภาวะ มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ตัวหนึ่ง (ในเครื่องมือหลายๆ ตัว) ที่ใช้เป็นไม้บรรทัดวัดระดับปัญหาสุขภาวะในสังคม มันมีชื่อเรียกว่า DALYs: Disability Adjusted Life Years หรือปีสุขภาวะที่สูญเสีย มันคือดัชนีวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวมหรือตัวชี้วัดภาระโรคที่ใช้บอกขนาดปัญหาสุขภาพในภาพรวมของประชากร โดยวัดการสูญเสียสุขภาพหรือช่องว่างสุขภาพ มีหน่วยนับเป็นปีสุขภาวะ โดย 1 หน่วยหรือ 1 DALY เท่ากับการสูญเสียช่วงอายุของการมีสุขภาพที่สมบูรณ์ไปจำนวน 1 ปีที่เกิดจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (YLL: Years of Life Lost) หรืออาจจะไม่ได้เสียชีวิต แต่ต้องอยู่กับความเจ็บป่วยหรือพิการของร่างกาย (YLD: Years Lost due to Disability)
เชื่อว่าหลายคนคงยังงุนงงอยู่ว่า สรุปแล้วปีสุขภาวะที่สูญเสียคืออะไรกันแน่
สมมติว่าเมื่อคนไทยคนหนึ่งเกิดมา ถ้าเป็นหญิงจะมีอายุเฉลี่ย 78.6 ปี ถ้าเป็นชายจะมีอายุเฉลี่ย 71.8 ปี ถ้านายเอเกิดเมาแล้วขับจนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตตอนอายุ 40 ปี เท่ากับว่านายเอทำเวลาในชีวิตหล่นหายไป 31.8 ปี หรือถ้านายเอไม่ตาย แต่พิการ ระยะเวลาที่เขาต้องรักษาตัว ต้องเผชิญความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ จากความพิการ เวลาที่เขาไม่สามารถทำกิจวัตรต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ระยะเวลาเหล่านี้อาจกลืนกินเวลาของชีวิตนายเอที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ไปถึง 20 ปี ฟังแล้วน่าหดหู่ แต่เวลาที่สูญหายไปนี้เองที่คนทำงานสุขภาวะใช้เป็นไม้บรรทัดวัดปัญหาสุขภาวะของสังคม แต่ต้องบอกก่อนว่าที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นการทำให้เข้าใจง่ายๆ ในความเป็นจริงแล้วยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนทางด้านคณิตศาสตร์และสถิติอีกมาก
เราต่างรู้กันดีว่า สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเร็วรี่ ผลกระทบจากเรื่องนี้มีตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจมหภาคจนถึงในครัวเรือน ‘การแก่อย่างมีคุณภาพ’ เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ
จากการใช้เครื่องมือปีสุขภาวะที่สูญเสีย คนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีการสูญเสียปีสุขภาวะสูงถึง 4.3 ล้านปี แบ่งเป็นผู้ชาย 2.1 ล้านปี และผู้หญิง 2.2 ล้านปี โดยสาเหตุอันดับ 1 ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงคือโรคหลอดเลือดสมอง หมายความแทนที่ผู้สูงอายุไทยจะเข้าสู่วัยชราอย่างมีคุณภาพ กลับต้องเสียชีวิตหรือพิการจากโรคนี้ และสูญเสียเวลาดีๆ ในวัยเกษียณไปมากถึง 4.3 ล้านปี
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมหลอดเลือดระบุว่า องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประมาณการว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 15 ล้านคน 1 ใน 3 พิการ และอีก 1 ใน 3 เสียชีวิต ที่น่าวิตกแทนประเทศไทยก็คือ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยในปี 2563 คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
ถ้าย้อนกลับไปดูสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หนทางที่ผู้สูงอายุจะป้องกันตนเอง ไม่ต้องให้เวลาในวัยเกษียณของตนต้องสูญหายไปจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังประเภทนี้ ก็คือการตัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การคุมน้ำหนัก และอาหาร งดเหล้า-บุหรี่ ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง หากพบจะได้ทำการรักษาแต่เนิ่นๆ สำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคชนิดนี้แล้ว โอกาสเป็นซ้ำจะมากกว่าคนทั่วไปที่ยังไม่เคยเป็น จึงควรพบแพทย์และทานยาตามที่แพทย์แนะนำ ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด
โรคหลอดเลือดสมองมักเกิดต่อเนื่องจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังชนิดอื่น ถ้าป้องกันตัวเองจากโรคตั้งต้นก็จะลดความเสี่ยงจากการโรคหลอดเลือดสมองได้ แต่คงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ หากไม่ดูแลสุขภาพ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้ ซึ่งนั่นจะทำให้ปีสุขภาวะที่แต่ละคนควรมีต้องสูญเสียไปโดยไม่มีวันเรียกคืน
ที่มา กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล Burden of Disease Thailland
รูปภาพจาก บทความสุขภาพ รพ.รามคำแหง
30 ต.ค. 2567
15 ต.ค. 2567
1 ต.ค. 2567
4 ก.ย. 2567