แผลกดทับ ปล่อยทิ้งไว้อันตรายถึงชีวิต!

Last updated: 12 ม.ค. 2567  |  214 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แผลกดทับ ปล่อยทิ้งไว้อันตรายถึงชีวิต!

แผลกดทับ คือแผลที่เกิดจากการกด ทับ หรือเสียดสีของผิวหนังบริเวณนั้น ๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อบริเวณนั้นผิดปกติ คือน้อยเกินไปจนเกิดการสะสมของของเสีย ของเสียคั่ง ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ แผลกดทับสามารถเป็นได้ตั้งแต่มีรอยแดง ชา หรือรู้สึกเจ็บผิดปกติ ไปจนถึงเป็นแผลเปิด และรุนแรงจนเกิดเนื้อตาย หรือลุกลามถึงกระดูกก็มี

ถ้าอย่างนั้น เรามาทำความรู้จักระยะของแผลกดทับกันค่ะ ว่ามีกี่ระยะ และแต่ระยะมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง

แผลกดทับ 4 ระยะที่ต้องรู้

  • ระยะที่ 1 เริ่มปรากฏเป็นรอยแดงหรือรอยคล้ำบนผิวหนัง แต่ผิวจะยังไม่มีรอยแยก ไม่ฉีกขาดจากกัน
  • ระยะที่ 2 เริ่มเกิดเป็นแผลตื้น ผิวหนังเริ่มพอง เริ่มเป็นตุ่มน้ำใส
  • ระยะที่ 3 ปรากฏแผลเป็นรอยลึกถึงชั้นไขมัน ชั้นผิวหนังบริเวณแผลทั้งหมดถูกทำลาย
  • ระยะที่ 4 ปรากฏเป็นแผลลึกมองเห็นถึงกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ เนื่องจากผิวหนังถูกทำลายอย่างร้ายแรง

ส่วนแผลกดทับที่เป็นเนื้อสีซีด หรือดำคล้ำ จัดเป็นแผลที่ยังไม่ระบุระยะ (UnStage) และโดยมากเนื้อตายภายใต้รอยดำคล้ำเหล่านั้นมักกินลึกถึงไขมันหรือกล้ามเนื้อเป็นต้นไปแล้ว  ภายนอกอาจดูแห้ง แต่การตายจะลึกลงเรื่อย ๆ ถ้าไม่รีบรักษาโดยเร็ว


แผลกดทับ ใครบ้างที่ต้องระวัง?

  • ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติ เช่น มีภาวะอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาตผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง
  • ผู้ที่รับรู้ความรู้สึกตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ไม่สมบูรณ์ เช่น มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้าในผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือในผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดสมอง กระดูก หรือเส้นประสาทต่าง ๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น


แผลกดทับหายได้ แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำ

แผลกดทับส่วนใหญ่เกิดจากการกดทับซ้ำ ๆ หากมีการเปลี่ยนท่าทาง หรืออุปกรณ์ไม่ให้กดซ้ำบริเวณเดิมนาน ๆ และมีการดูแลแผลอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสที่แผลจะหายกลับเป็นปกติได้ แต่ในทางกลับกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

วิธีการดูแลแผลกดทับ เพื่อลดความเสี่ยงแผลลุกลาม

  1. หลีกเลี่ยงการกดทับซ้ำ ๆ บริเวณแผล แปะเทปติดสายต่าง ๆ แบบไม่กดแน่นผิวหนัง เปลี่ยนตำแหน่งท่าทางร่างกายบ่อย ๆ ใช้หมอนหนุนรอยแผลและปุ่มกระดูกต่าง ๆ
  2. ดูแลแผลให้สะอาด เลือกวัสดุแปะแผลที่เหมาะสม
  3. ควรพลิกตัว ปรับเปลี่ยนท่าทางทุก 2 ชั่วโมง
  4. หากมีโรคประจำตัว แนะนำให้คุมโรคให้ดี เช่น คุมน้ำตาลในเบาหวาน ปรับยารักษาโรคหัวใจ ตับ ไต ยาบำรุงเลือด เพิ่มอาหารให้มีโภชนาการที่ดี ปรับยา วิตามิน

หากมีอาการผิดสังเกต หรือแผลที่เป็นไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันทีนะคะ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อจากแผลกดทับซึ่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ถ้าไม่อยากกลับมาเป็นซ้ำ หรือไม่อยากให้คนใกล้ชิดต้องทุกข์ทรมานจากการเป็นแผลกดทับ จนทำให้ต้องสูญเสียคุณภาพชีวิต ลองนำข้อมูลดี ๆ ที่เว็บไซต์เรานำมาฝากไปปรับใช้กันดูนะคะ และหวังว่าผู้ป่วยทุกท่านจะกลับมาใช้ชีวิตได้ด้วยความมั่นใจได้อีกครั้งค่ะ


ที่มา: โรงพยาบาลพญาไท 3
บทความโดย: พญ.เบญจพร นันทสันติ
รูปภาพจาก: Bangkok Well Being

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้